f
title
แขวงทางหลวงพิจิตร
วิสัยทัศน์ : เร่งรัด พัฒนางานบำรุงรักษาทางหลวงตามมาตรฐานรองรับการขนส่ง เพื่อความสะดวกปลอดภัย ภูมิทัศน์สวยงาม
ทางหลวง เร่งขยายสาย 226 ช่วง อ.จักราช-อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา
ลงวันที่ 17/12/2564

ทล. เร่งขยายสาย 226 ช่วง อ.จักราช-อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา เป็น 4 ช่องจราจร ยกระดับถนนปลอดภัย หนุนเศรษฐกิจยั่งยืน เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดอีสานสู่ สปป.ลาว-เวียดนาม คืบหน้า 80 % แล้วเสร็จเมษายนปี 2565 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบให้กรมทางหลวงขับเคลื่อนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมให้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 226 สาย อ.เฉลิมพระเกียรติ - อ.จักราช - อ.ห้วยแถลง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็น 4 ช่องจราจร ยกระดับความปลอดภัย ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร รองรับเชื่อมโยงการเดินทางกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศเวียดนาม สนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ขยายเส้นทางดังกล่าวจาก อ.เมือง จ.นครราชสีมาไปยัง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์เป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จระยะทาง 94.6 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้คงเหลือเพียงช่วง อ.จักราช - อ.ห้วยแถลง ระยะทางประมาณ 21.6 กิโลเมตร หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ทางหลวงสายดังกล่าวมีขนาด 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทางจาก แยกหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมาไปยัง แยกกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ รวม 116.2 กิโลเมตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงผลักดันโครงการดังกล่าวให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 จึงเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวโดยขยายจาก 2 ช่องจราจรเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) ผิวทางเป็นแอสฟัลต์คอนกรีตช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางชนิดเดียวกับผิวทาง โดยด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ด้านในกว้าง 0.50 เมตร มีเกาะกลางเป็นแบริเออร์คอนกรีต แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กม.35+600 - กม.39+800 มีความยาว 4.2 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 กม.41+050 - กม.49+000 มีความยาว 7.950 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 กม.49+900 - กม.53+510 มีความยาว 3.610 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 กม.57+100 - กม.63+000 มีความยาว 5.9 กิโลเมตร รวมระยะทางยาวประมาณ 21.660 กิโลเมตร โดยมีจุดกลับรถ จำนวน 12 จุด โดยจะมีการเปิดจุดให้คนข้ามที่เป็นเกาะกลางแบริเออร์ในตำแหน่งที่มีความจำเป็นและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในเส้นทาง รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตอีก 3 แห่ง และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน 1 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณ 764,122,000 บาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 80 % คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือน เมษายน ปี 2565 ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข 226 สาย หัวทะเล–วารินชำราบ เป็นทางหลวงสายสำคัญที่ผ่านตัวเมือง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี มีระยะทางทั้งสิ้น 324.3 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางขนานในด้านทิศเหนือไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 สาย ทางต่างระดับสีคิ้ว – อุบลราชธานี หากโครงการก่อสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่ง รองรับเส้นทางเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 (พ.ศ.2560 – พ.ศ.2564)


'